วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กุหลาบ


กุหลาบ

ข้อมูลทั่วไป
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rosa hybrida  
ชื่อวงศ์ ROSACEAE 
ชื่อสามัญ Rose 
ชื่ออื่นๆ กุหลาบ 
ถิ่นกำเนิด ทวีปเอเชีย 
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด, ตอนกิ่ง, ปักชำกิ่งและราก, ติดตา, ต่อกิ่ง, เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 

ประวัติและข้อมูลทั่วไป

คำว่า กุหลาบ นั้นเป็นคำศัพท์มาจากภาษาฮินดี (गुलाब อ่านว่า กุ-ลาพ หรือคนไทยเราเรียกว่า คุ-ลาพแล้วตอนหลังก็เป็นกุหลาบ) ในภาษาเปอร์เซีย แปลว่าสีแดง กุหลาบนับว่าเป็นไม้ดอกที่มีความงามยากที่ไม้ดอกอื่นจะเทียบเท่า จนได้รับชื่อว่าเป็น "ราชินีแห่งดอกไม้" (Queen of flower) กุหลาบมีมานานประมาณ 30 ล้านปีมาแล้ว มีทั้งหมดประมาณ 200 สปีชี่ส์ พันธุ์ดั้งเดิม (wild species) มีทั้งชนิดกลีบดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน ส่วนกุหลาบที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันเป็นกุหลาบที่ผ่านการวิวัฒนาการมานานนับร้อยๆ ปี และทั้งหมดเป็นกุหลาบลูกผสมซึ่งได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างกุหลาบ 1-8 สปีชี่ส์ และส่วนมากมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 
กุหลาบ จัดเป็นไม้ดอกประเภทพุ่ม-พลัดใบ มีลำต้นตั้งตรงหรือเลื้อย แข็งแรงมีใบย่อย 3-5 ใบ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันและมีรอยย่นเล็กน้อย ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มี 2 เพศในดอกเดียวกัน มีเกสรตัวผู้และตัวเมียเป็นจำนวนมาก มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน การจำแนกตามลักษณะสีของดอกแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ

1.Single color มีสีของกลีบดอกสีเดียว ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังของดอก และทุก ๆ กลีบมีสีเหมือนกัน เช่น พันธุ์Christian Dior
2.Multi-color มีสีของกลีบดอกเปลี่ยนไปตามอายุการบานดอก ในช่วงหนึ่งจะมีหลายสีเพราะบานดอกไม่พร้อมกัน ส่วนมากจะเป็นกุหลาบพวง เช่น พันธุ์ Sambra หรือ Charleston
3.Bi-color มีสีของกลีบดอก 2 สี คือ กลีบด้านในสีหนึ่ง ด้านนอกอีกสีหนึ่ง เช่น พันธุ์ Forty Niner
4.Blend-color มีสีของกลีบดอกด้านในมากกว่า 2 สีขึ้นไป เช่น พันธุ์ Monte Carlo
5.Srtiped color กลีบดอกในแต่ละกลีบมีสีมากกว่า 2 สีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักเกิดเป็นสีสลับกันเป็นเส้นตามความยาวของกลีบดอก เช่น พันธุ์ Candy Stripe

ประเภท

กุหลา สามารถจำแนกได้หลายแบบ เช่น จำแนกตามลักษณะการเจริญเติบโต ขนาดดอก สีดอก ความสูงต้น และจำแนก ตามลักษณะของดอก เป็นต้น ในที่นี้ได้จำแนกกุหลาบเฉพาะกุหลาบตัดดอกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ทางการค้าในตลาดโลกเป็น 5 ประเภทดังนี้
  • กุหลาบดอกใหญ่ หรือ กุหลาบก้านยาว (large flowered or long stemmed roses) กุหลาบประเภทนี้เป็นกุหลาบไฮบริดที (Hybrid Tea: HT) ที่มีดอกใหญ่ แต่การดูแลรักษายาก ผลผลิตต่ำ (100-150 ดอก/ตร.ม./ปี) และอายุการปักแจกันสั้นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกุหลาบ Floribunda มักมีก้านยาวระหว่าง 50-120 เซนติเมตร กุหลาบดอกใหญ่ได้รับความนิยมมากใน สหรัฐอเมริกา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น ซิมบับเวโมร๊อกโก ฝรั่งเศส และ อิตาลี พันธุ์กุหลาบดอกใหญ่ที่เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศได้แก่ พันธุ์ เวก้า (Vega: แดง) , มาดาม เดลบา (Madam Delbard) , วีซ่า (Visa: แดง) , โรเท โรเซ (Rote Rose: แดง) , คารล์ เรด (Carl Red: แดง) , โซเนีย (Sonia: ชมพูส้ม) , เฟิร์สเรด (First Red: แดง) , โพรฟิตา (Prophyta: ปูนแห้ง) , บิอังกา (Bianca: ขาว) , โนเบลส (Noblesse: ชมพูส้ม) และ แกรนด์ กาลา (Grand Gala: แดง) เป็นต้น
  • กุหลาบดอกกลาง หรือ กุหลาบก้านขนาดกลาง (medium flowered or medium stemmed roses) เป็นกุหลาบชนิดใหม่ ซึ่งมีลักษณะระหว่างกุหลาบดอกใหญ่ และเล็ก เป็นกุหลาบ Hybrid Tea ให้ผลผลิตสูง (150-220 ดอก/ตร.ม./ปี) อายุการปักแจกันยาว และทนการขนส่งได้ดี ความยาวก้านระหว่าง 40-60 ซม. แหล่งผลิตที่สำคัญได้แก่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี อิสราเอล ซิมบับเว เคนยา พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่พันธุ์ ซาช่า (Sacha: แดง) , เมอร์ซิเดส (Mercedes: แดง) , เกเบรียล (Gabrielle: แดงสด) , คิสส์ (Kiss: ชมพู) , โกลเด้นทาม (Goldentime: เหลือง) , ซาฟารี (Safari: ส้ม) และ ซูวีเนีย (Souvenir: ม่วง) เป็นต้น
  • กุหลาบดอกเล็ก หรือ กุหลาบก้านสั้น (small flowered or short stemmed roses) เป็นกุหลาบที่ได้รับความนิยมปลูก และบริโภคกันมากในยุโรป โดยเฉพาะ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ กุหลาบก้านสั้นนี้เป็นกุหลาบ Floribunda ที่ให้ผลผลิตสูง (220-350 ดอก/ตร.ม./ปี) อายุการปักแจกันยาว และทนต่อการขนส่งดีกว่ากุหลาบดอกใหญ่ มักมีความยาวก้านระหว่าง 30-50 เซนติเมตร แหล่งผลิตกุหลาบดอกเล็กได้แก่ประเทศ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิสราเอล และเคนยา พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่พันธุ์ ฟริสโก (Frisco:เหลือง) , เอสกิโม (Escimo: ขาว) , โมเทรีย (Motrea: แดง) , เซอไพรซ์ (Surprise: ชมพู) , และ แลมบาด้า (Lambada: แสด) เป็นต้น
  • กุหลาบดอกช่อ (spray roses) เป็นกุหลาบชนิดใหม่ ให้ผลผลิตต่ำต่อพื้นที่ (120-160 ดอกต่อตารางเมตรต่อปี) ความยาวก้านระหว่าง 40-70 ซม. มักมี 4-5 ดอกในหนึ่งช่อ และยังมีตลาดจำกัดอยู่ เช่นพันธุ์ เอวีลีน (Evelien: ชมพู) เดียดีม (Diadeem: ชมพู) และ นิกิต้า (Nikita: แดง) เป็นต้น
  • กุหลาบหนู (miniature roses) มีขนาดเล็กหรือแคระโดยธรรมชาติ ความสูงของทรงพุ่มไม่เกิน 1 ฟุตให้ผลผลิตสูง 450-550 ดอก/ตร.ม./ปี มีความยาวก้านดอกระหว่าง 20-30 ซม. ยังมีตลาดจำกัดอยู่ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ และอิตาลี
พันธุ์ที่ใช้ปลูก

•พันธุ์ดอกสีแดง ได้แก่ คริสเตียนดิออร์ สวาทมอร์ สคาร์เลทไนท์
•พันธุ์ดอกสีชมพู ได้แก่ เบลแองจ์ ควีนอลิซาเบท มีสออลอเมริกันบิวตี้
•พันธุ์ดอกสีแสด ได้แก่ ซุปเปอร์สตาร์ ธัญญา โบเต้
•พันธุ์ดอกสีเหลือง ได้แก่ คิงส์แรนซัม โกลเด้นมาสเตอพิส โบเต้ กลาย
•พันธุ์ดอกสีขาว ได้แก่ มิสตี้เมอร์
•พันธุ์ดอกสีม่วง ได้แก่ บูลมูน

การปลูกและดูแลรักษา 

กุหลาบควรปลูกในฤดูฝนและฤดูหนาวเพราะเป็นช่วงของการเจริญเติบโตของกุหลาบ ช่วงที่ดีที่สุดคือช่วงเดือนมิถุนายน เนื่องจากกุหลาบจะมีช่วงการเจริญเติบโตติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมากกว่า 6 เดือน ซึ่งจะทำให้ได้ต้นกุหลาบที่เติบโตเต็มที่ ดอกมีคุณภาพ กุหลาบเป็นไม้ดอกที่ต้องการแสงแดดจัดอย่างน้อยวันละ 6 ชม. ดังนั้นควรปลูกในที่โล่งแจ้งและอับลม หรือปลูกทางด้านทิศตะวันออกให้กุหลาบได้รับแสงในตอนเช้า ดินมีการระบายน้ำดี กุหลาบเป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ถ้ารดมากจนน้ำขังก็ไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงการรดให้เปียกทั้งต้นและดอก เพราะจะเป็นการช่วยให้เกิดและแพร่โรคได้ง่ายและเร็วขึ้น ถ้ารดจนโชกก็ไม่จำเป็นต้องรดทุกวันก็ได้ กุหลาบต้องการความชื้นและอากาศในดิน ดังนั้นจึงควรทำการคลุมดินโดยใช้ หญ้าแห้ง ฟาง เปลือกถั่วลิสง ขุยมะพร้าว หรือแกลบดิบ มาคลุมดินรอบๆ ต้นกุหลาบหนาประมาณ 2-3 นิ้ว และถ้าเป็นไปได้ก่อนคลุมดินควรหาทางทำให้วัสดุคลุมดินเปียกชื้นก่อน มิเช่นนั้นต้องรดน้ำในระยะแรก ๆ บ่อยและหลาย ๆ ครั้ง

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบ

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบปฏิบัติได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะใช้หลักการที่คล้ายกัน คือตัดแต่งเพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์เพื่อการตัดดอก และเพื่อให้ได้กิ่งกระโดง (water sprout หรือ bottom break) มากขึ้น และจะรักษาใบไว้กับต้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ควรรักษาให้พุ่มกุหลาบโปร่ง และไม่สูงมากเกินไปนัก เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา และแสงที่กระทบโคนต้นกุหลาบจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิ่งกระโดงอีกด้วย การตัดแต่งกิ่งที่นิยมในปัจจุบันได้แก่การตัดแต่งกิ่งแบบ ตัดสูงและต่ำ การตัดแต่งแบบ ตัดสูงและต่ำ (สูงและต่ำจากจุดกำเนิดของกิ่งสุดท้าย) เป็นการตัดแต่งเพื่อให้มีการผลิตดอกสม่ำเสมอทั้งปี

การดูแลกุหลาบระยะแรกหลังปลูกเมื่อตากุหลาบเริ่มแตก ควรส่งเสริมให้มีการเจริญทางใบ เพื่อการสะสมอาหาร และสร้างกิ่งกระโดง เพื่อให้ได้ดอกที่มีขนาดใหญ่ และก้านยาว ซึ่งทำได้ด้วยการเด็ดยอดเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยเด็ดส่วนเหนือใบสมบูรณ์ (5 ใบย่อย) ใบที่สองจากยอด เมื่อดอกมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา จากนั้นกิ่งกระโดงจะเริ่มแทงออก ซึ่งกิ่งกระโดงนี้จะเป็นโครงสร้างหลักให้ต้นกุหลาบ ที่ให้ดอกมีคุณภาพดี

โรคกุหลาบ

กุหลาบเป็นไม้ตัดดอกชนิดหนึ่งที่มีศัตรูมากพืชหนึ่ง ดังนั้นการป้องกันและกำจัดศัตรูกุหลาบให้มีประสิทธิภาพ ผู้ปลูกควรทราบลักษณะสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และวงจรชีวิตของศัตรูนั้น ๆ รวมทั้งการป้องกันกำจัด และการใช้สารเคมีให้มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่น และควรฝึกเจ้าหน้าที่ให้หมั่นตรวจแปลง และสังเกตต้นกุหลาบทุกวันจะช่วยให้พบโรคหรือแมลงในระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถกำจัดได้ง่าย ในการฉีดพ่นสารเคมีควรใช้สารเคมีชนิดเดียวกันติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 ครั้งเพื่อให้สารนั้น ๆ แสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ จากนั้นนั้นควรสับเปลี่ยนกลุ่มของสารเคมีเพื่อลดการดื้อยา
  • โรคราน้ำค้าง (Downey mildew) เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Peronospora spasa ลักษณะการทำลาย อาการจะแสดงบน ใบ กิ่ง คอดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก การเข้าทำลายจะจำกัดที่ส่วนอ่อน หรือส่วนยอด
  • โรคราแป้ง (Powdery mildew) เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Sphaerotheca pannosa ลักษณะการทำลาย อาการเริ่มแรกผิวใบด้านบนจะมีลักษณะนูน อวบน้ำเล็กน้อย และบริเวณนั้นมักมีสีแดง และจะสังเกตเห็นเส้นใย และอัปสปอร์ สีขาวเด่นชัดบนผิวของใบอ่อน ใบจะบิดเบี้ยว และจะถูกปกคลุมด้วยเส้นใยสีขาว ใบแก่อาจไม่เสียรูปแต่จะมีราแป้งเป็นวงกลม หรือรูปทรงไม่แน่นอน
  • โรคใบจุดสีดำ (black spot: Diplocarpon rosae) เป็นโรคที่พบเสมอ ๆ ในกุหลาบที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ ๆ หรือปลูกประดับอาคารบ้านเรือนเพียง 2-3 ต้น โดยมากจะเกิดกับใบล่าง ๆ อาการเริ่มแรกเป็นจุดกลมสีดำขนาดเล็กด้านบนของใบ และจะขยายใหญ่ขึ้นหากอากาศมีความชื้นสูง และผิวใบเปียก หากเป็นติดต่อกันนาน จะทำให้ใบร่วงก่อนกำหนด ต้นโทรม ใบและดอกมีขนาดเล็กลง
  • โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ลักษณะอาการแตกต่างกันไปตามชนิดของไวรัส เช่น ใบด่างซีดเหลือง หรือด่างเป็นซิกแซก
  • โรคราสีเทา (botrytis: Botryotinia fuckeliana syn. Botrytis cinerea) มักพบในสภาพอุณหภูมิต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์สูง และการระบายอากาศไม่ดีพอ ดอกตูมจะเป็นจุดสีน้ำตาล และลามขยายใหญ่และเน่าแห้ง การป้องกันกำจัด เพื่อไม่ให้ดอกกุหลาบถูกฝนควรปลูกกุหลาบในโรงเรือนพลาสติก การป้องกันควรฉีดพ่นสารเคมีด้านข้างและด้านบนดอกด้วย คอปเปอร์ ไฮดร๊อกไซด์ แมนโคเซ็บ หรือ คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์
  • โรคกิ่งแห้งตาย (die back) เกิดจากตัดกิ่งเหนือตามากเกินไปทำให้เชื้อราเข้าทำลายกิ่งเหนือตาจนเป็นสีดำ และอาจลามลงมาทั้งกิ่งได้ ดังนั้นจึงควรตัดกิ่งเหนือตาประมาณ 1/4 นิ้ว ทำมุม 45 องศาเฉียงลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น